ประวัติความเป็นมาของจังหวัดเชียงราย
https://www.google.com/url?sa=i&rct=j&q=&esrc=s&source=images&cd=&cad=rja&uact=8ed=0C
ประวัติความเป็นมา จังหวัดเชียงราย
ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกก เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์
มีผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่งอย่างไม่ขาดสายนับตั้งแต่สมัยต้นพุทธกาล
หรือก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน ดังจะสรุป
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาโดยแบ่งเป็นสมัยต่าง ๆ ได้ ๔ สมัย คือ
สมัยชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำกก
เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของชนชาติไทยและอารยธรรมไทย ตั้งแต่ก่อนพ.ศ. ๑๘๐๐
ร่องรอยที่เป็นรูปธรรมของสังคมและอารยธรรมไทยลุ่มน้ำกก ได้แก่
ซากเมืองโบราณ ที่มีอยู่เกลื่อนกลาดบนสองฝั่งแม่น้ำกก
เท่าที่ค้นพบในปัจจุบันมีซากเมืองโบราณถึง ๒๗ เมือง
ตั้งแต่อำเภอฝางซึ่งเป็นต้นแม่น้ำกก จนถึงเมืองเชียงแสน นับเป็นพยานที่ดี
ว่าได้มีชนชาติไทยชุมนุมกันตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณแม่น้ำกกอย่างหนาแน่น
และได้ขยายตัวมีการสร้างบ้านแปงเมืองกันไม่ขาดสาย ศูนย์กลางทางการเมือง
ของไทยแห่งลุ่มน้ำกกในยุคแรก
ตั้งอยู่ที่ลำน้ำแม่สายซึ่งอยู่เหนือแม่น้ำกกขึ้นไปเล็กน้อย
ตำนานสิงหนวัติจดบันทึกไว้ว่า ราชวงศ์กษัตริย์ไทเมือง ชื่อสิงหนวัติกุมาร
อพยพคนไทย จากนครไทยเทศในยูนนาน ลงมาตั้งอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ ณ
บริเวณละว้านที (แม่น้ำสาย) และแม่น้ำโขง
ตั้งแต่ต้นพุทธกาลก่อนได้ชื่อว่าโยนก ตำนานสิงหนวัติได้กล่าวว่า
บริเวณนี้เป็นดินแดนสุวรรณโคมคำแต่รกร้างไปแล้ว
เมื่อสิงหนวัติกุมารนำไพร่บ้านพลเมืองมาจากนครไทยเทศ
จึงมาสร้างเมืองขึ้นใหม่ชื่อว่า สิงหนวัตินคร ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น
โยนกนครไชยบุรี ราชธานีศรีช้างแสน (ช้างแสนแปลว่าช้างร้อง)
และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เชียงแสน และเรียกพลเมืองของโยนกนครว่า ชาวยวน
ตำนานเงินยางเชียงแสน ได้กล่าวถึง ปู่เจ้าลาวจก เป็นผู้ตั้งอาณาจักรเงินยาง
หรือ หิรัญนคร เมื่อ พ.ศ ๑๑๘๑ เป็นยุคที่สองต่อจาก โยนกนาคพันธุ์
ซึ่งล่มสลายไปแล้ว โดยตั้งศูนย์กลางอยู่ ณ บริเวณเดียวกับ
โยนกนาคพันธุ์เดิม
แต่ไพร่บ้านพลเมืองส่วนใหญ่อยู่กันหนาแน่นที่ปากแม่น้ำกกสบแม่น้ำโขง
อาศัยน้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์ทำนา การปกครองบ้านเมืองก็ใช้พื้นที่ทำนา
เป็นเกณฑ์ การแบ่ง เขตเช่นแบ่งเป็นพันนา หมื่นนา แสนนาและล้านนาเป็นต้น
มีเมืองเชียงแสนเป็นเมืองสำคัญและมีเมืองเล็กเมืองน้อยที่เรียกว่าเวียง
เกิดขึ้นตามบริเวณ ที่ราบลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ อีกมากมาย
สมัยสร้างบ้านแปงเมืองของราชวงศ์มังราย
ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ บริเวณลุ่มน้ำกก มีการ “สร้างบ้านแปลงเมือง”
โดยพญามังราย (พ.ศ. ๑๗๘๑-๑๘๖๐) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย
บุตรของพญาลาวเม็ง (ผู้ครองหิรัญนครเงินยาง) และพระนางเทพคำข่าย
(เจ้าหญิงแห่งเมืองเชียงรุ้ง) ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทนพญาลาวเม็ง
ที่เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสนในปี พ.ศ. ๑๘๐๒
และได้ทรงย้ายราชธานีจากเมืองหิรัญนครเงินยาง
(ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเมืองเชียงแสน)
มาสร้างราชธานีแห่งใหม่ที่ริมฝั่งแม่น้ำกก เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๕
และได้ขนานนามราชธานีแห่งนี้ว่า “เชียงราย” ซึ่งมีความหมายว่า
“เมืองของพญามังราย” จากนั้นได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติเชื้อสาย ลัวะ จักราช เช่นเมืองเชียงไร เมืองปง
เมืองเวียงคำ เชียงเงิน เชียงช้าง เชียงของ ฯลฯ เข้ามาไว้ในอำนาจ
รวมทั้งได้สร้าง เวียงฝางขึ้นมาในปี ๑๘๑๒
ต่อมาพระองค์ได้ขยายอำนาจสู่ดินแดนลุ่มแม่น้ำปิง สามารถยึดเมืองหริภุญชัย
(ลพุน) ได้ในปี ๒๘๑๗ และได้เมืองอังวะพุกามในปี ๑๘๓๒
โดยได้นำเอาช่างจากพุกามมาไว้ที่เชียงแสนด้วยหลังจากนั้น
พระองค์จึงย้ายราชธานีมายังบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง โดยสร้าง เมือง
“นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” เป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙
และครองราชย์อยู่ที่เชียงใหม่ตลอด โดยให้ขุนคราม
ราชโอรสไปครองเมืองเชียงรายแทน เชียงรายจึงกลาย
สภาพเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ ภายหลังการย้ายราชธานีของพญามังราย
เชียงรายก็ถูกเปลี่ยนเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชและในระยะต่อมาบทบาทเมือง
เชียงราย ก็ถูกริดรอนลง
เมื่อเชียงใหม่เกิดสงครามกลางเมืองแย่งชิงอำนาจกันเอง
อาณาจักรล้านนาก็เริ่มเสื่อมและเสียเอกราชให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง
กษัตริย์พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๑ เมือง
เชียงรายจึงตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของพม่านานถึง ๒๐๐
ปีโดยในระหว่างที่พม่าเข้ามามีอำนาจนั้นพม่าได้ฟื้นฟูเมืองเชียงแสนเป็น
เมืองสำคัญในการปกครองของหัวเมืองเหนือ
สมัยเป็นเมืองบริวารต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี
อาณาจักรไทยได้ทำสงครามกับพม่าหลายครั้ง จนบรรดาผู้นำของคนไทยตอนเหนือ เช่น
พญาจ่าบ้าน พญากาวิละ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้ากรุงธนบุรี
ได้ทำการต่อสู้กับพม่าที่เรียกว่า “ฟื้นม่าน”
เพื่อช่วยขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาไทย แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ต่อมาพญากาวิละ
เป็นผู้มีบทบาท มากในการเกลี้ยกล่อมให้บรรดาเมืองต่าง ๆ
ในล้านนาร่วมมือกันต่อสู้พม่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ทรงเห็นความสำคัญของอาณาจักรล้านนาไทย จึงทรง สนับสนุนให้ทัพมาช่วย
และโปรดเกล้าสถาปนาเชียงใหม่ขึ้นเป็นประเทศราช
และแต่งตั้งให้พญากาวิละเป็นพระเจ้ากาวิละ ครองเมืองเชียงใหม่ ต่อมาใน พ.ศ.
๒๓๔๗ พระเจ้ากาวิละ
ได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนและกวาดต้อนผู้คนบริเวณเมืองต่าง ๆ ออกไปทั้งหมด
ทำให้เมืองต่าง ๆ รวมทั้งเมืองเชียงรายกลายเป็นเมืองร้าง ในปี พ.ศ. ๒๓๘๖
ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมืองเชียงรายได้รับการฟื้นฟูบูรณะขึ้นอีกครั้ง
มีฐานะเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ โดยมีเจ้าหลวงธรรมลังกา
เป็นเจ้าเมืององค์แรก และนับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นต้นมา
การปกครองเมืองเชียงราย ในฐานะเป็นเมืองบริวารของเมืองเชียงใหม่
ประกอบด้วยเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ที่เรียกว่า “เจ้าขัน ๕ ใบ”
เป็นคณะปกครองเมืองเชียงราย ประกอบด้วย เจ้าหลวง พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์
พระยาราชบุตร และพระยาบุรีรัตน์ เป็นผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังมี
“เค้าสนามหลวง” ประกอบด้วยเจ้านายขุนนางชั้นสูง ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง
และ เมืองเชียงราย มีเจ้าหลวง
และเจ้านายบุตรหลานเชื้อสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนปกครอง เป็นระยะเวลานานถึง ๖๐
ปี (พ.ศ. ๒๓๘๖-๒๔๔๖) จนมีการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ในสมัยรัชกาลที่ ๕
สมัยการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล
สมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงดำเนินนโยบายสร้างความเป็นเอกภาพทางการเมือง โดยค่อย ๆ
ริดรอนอำนาจของเจ้าผู้ครองนคร พยายามไม่ให้
เกิดความขัดแย้งในการดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๗ จนถึง
๒๔๔๒ ได้ประกาศจัดตั้งมณฑลพายัพ
และเป็นการยกเลิกหัวเมืองประเทศราชล้านนาไทย ทำให้
ล้านนาไทยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอย่างแท้จริง ตั้งแต่ปี พ.ศ.
๒๔๓๖-๒๔๕๓ รัฐบาลได้ส่งข้าหลวงคือ พ.ต. หลวงภูวนาทนฤบาล
มาดูแลเมืองเชียงราย โดยให้รวมเมือง เชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า
เมืองพะเยา แม่ใจ ดอกคำใต้ แม่สรวย เชียงคำ เชียงของ ตั้งเป็นหัวเมืองจัตวา
เรียกว่า “เมืองเชียงราย” อยู่ในมณฑลพายัพ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖
ได้มีการยกเลิกการปกครอง
แบบมณฑลเทศาภิบาลเมืองเชียงรายจึงมีฐานะเป็นจังหวัด
โดยเมืองฝางถูกแยกเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๐
อำเภอพะเยาพร้อมกับอีก ๖ อำเภอบริวาร จึงถูกยกฐานะเป็นจังหวัดพะเยา
ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๘ อำเภอ
แหล่งข้อมูล
https://blog.eduzones.com/poonpreecha/80573
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น